ผลงานเชิงประจักษ์ : ผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น
        สภาพปัญหา แนวคิด หรือแรงจูงใจในการจัดทำผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์
          การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นภารกิจหลักที่สถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกฝ่าย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้    มีการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถพัฒนาได้ตามธรรมชาติ ดังนั้นสถานศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดกระบวนการ
เรียนรู้ที่มุ่งเน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ การประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ ทำเป็น   ให้สอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ได้กำหนดให้จัดการเรียนการสอนใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้   ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเต็มกำลัง ความสามารถทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม จิตใจ และ เป็นการสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียน กิจกรรมที่มีความสำคัญดังกล่าว คือ กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี  กิจกรรมลูกเสือเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผน ประเมินปรับปรุงการทำงาน โดยเน้นกระบวนการกลุ่ม และเน้นให้ลูกเสือมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ อันได้แก่ ระเบียบวินัย ความรักความสามัคคี การเสียสละ การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ นำไปสู่พื้นฐานของวิถีประชาธิปไตย ตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติลูกเสือปี พ.ศ. 2551 อีกด้วย
          พระราชบัญญัติลูกเสือปี พ.ศ. 2551 (2551) มาตรา 8 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือ แห่งชาติว่า คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม
ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า
ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติตามแนวทางดังต่อไปนี้ 1) ให้มีนิสัยในการสังเกตจดจำ เชื่อฟังและพึ่งตนเอง 2) ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 3) ให้รู้จักบำเพ็ญตน
เพื่อสาธารณะประโยชน์ 4) ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และ    5) ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ และให้กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนงานลูกเสือของคณะลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและหน่วยงานอื่น         ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากิจกรรมลูกเสือเนตรนารีจะมี  ความสำคัญต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จากสภาพความเป็นจริงของการจัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารียังไม่ ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ของลูกเสือ ทั่งนี้เป็นผลมาจากกิจกรรมลูกเสือเนตรนารีเป็นกิจกรรมบังคับเลือก นักเรียนเรียนเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ตามที่โรงเรียนกำหนด ไม่มีจิตวิญญาณของลูกเสือเนตรนารีที่แท้จริง เป็นเหตุให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนกิจกรรมลูกเสือเนตรนารีอย่างแท้จริงนอกจากนี้ยังขาดแคลนครูผู้สอนทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ เนื่องจากผู้สอนไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม การจัดกิจกรรมจึงเป็นเหมือนการบังคับ ไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของลูกเสือ
ดังนั้นข้าพเจ้าในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาได้เล็งเห็นความสำคัญยิ่งในการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาการจัดกิจกรรมลูกเสือเนตรนารีให้มีประสิทธิภาพ ได้อุทิศกำลังกาย กำลังความคิดในการทำกิจกรรมที่มีคุณประโยชน์แก่การลูกเสือ โดยการเป็นผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารกิจการลูกเสือ ดำเนินการสร้างค่ายลูกเสือ ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือหรือวิชาลูกเสือเป็นพิเศษ จัดให้มีการชุมนุมลูกเสือ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือหรือลูกเสือ เป็นผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ ผู้กำกับกองลูกเสือ และเป็นคณะกรรมการให้การฝึกอบรมของเขตการศึกษา จังหวัดและอำเภอ  อีกทั้งยังทำหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนกิจการลูกเสือซึ่งได้แก่ การเป็นผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือจังหวัด  โดยที่ข้าพเจ้าอุทิศตนทำงานในหน้าที่ผู้ให้การอบรมเป็นระยะเวลานานตั้งแต่เริ่มรับราชการครู ปีพ.ศ. 2525
วิธีดำเนินการจัดทำผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์
           ข้าพเจ้ารับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ในตำแหน่งอาจารย์ 1 โรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาสุขศึกษาและพลานามัย รวมทั้งหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ในปี พ.ศ. 2531 ย้ายไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ 2 ที่โรงเรียนไกรภักดีวิทยาคม อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาสุขศึกษาและพลานามัย หัวหน้าหมวดกิจกรรม หัวหน้าฝ่ายปกครอง และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครองตามลำดับ ปี พ.ศ. 2538  ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ปี พ.ศ. 2539 ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ผู้ดูแลสาขาโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม (สาขาโนนปูน) โดยดำรงตำแหน่งครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียนโนนปูนวิทยาคมตามลำดับ ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ในปี พ.ศ. 2550 และย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยข้าพเจ้าได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ เต็มความสามารถทุ่มเทร่างกาย จิตใจ เสียสละทั้งเวลาราชการ และเวลานอกราชการในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือในโรงเรียน เป็นวิทยากรผู้ให้การฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้แก่ลูกเสือในการจัดชุมนุมลูกเสือโลก เป็นคณะกรรมการในการดำเนินงานกิจการลูกเสือของสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือจังหวัดศรีสะเกษ  และเป็นผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนทำให้ข้าพเจ้ามีความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของขบวนการลูกเสือไทย จนทำให้ข้าพเจ้าได้รับรางวัลสูงสุดในชีวิตการรับราชการของการปฏิบัติหน้าที่      ในกิจการลูกเสือไทย คือ รางวัลผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น ประจำปี 2553 ประเภทผู้บริหาร  และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ประจำปี 2552 รับพระราชทานเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554
           จากการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ได้รับรางวัลผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น ประจำปี 2553 ประเภทผู้บริหาร และเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ข้าพเจ้าดำเนินการบริหารงานตามวงจรการปฏิบัติงาน PDCA    ซึ่งเป็นวงจรการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ ในทุก ๆกระบวนการของการทำงาน ดังนี้ 
           1. การวางแผนการดำเนินงาน ข้าพเจ้าได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในกิจการลูกเสือ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนากิจการลูกเสือในสถานศึกษา และพัฒนาเยาวชนให้เป็นมีระเบียบ มีวินัย มีความรับผิดชอบ และมีความตรงต่อเวลา จึงเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อให้ได้วุฒิทางลูกเสือสูงสุด คือ การฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ L.T.C. (Leader Trainers Course) และจัดทำผลงานเพื่อเป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ และนำเสนอผลงานต่อสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติอนุมัติให้ได้รับวุฒิบัตรให้มีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 4 ท่อน (L.T.) และนำความรู้ที่ได้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และผู้อำนวยการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการชุมนุมลูกเสือโลก คณะกรรมการดำเนินงานประกวดระเบียบแถวและสวนสนามลูกเสือของสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือจังหวัดศรีสะเกษ และเป็นผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน
           2. การดำเนินงาน ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
               2.1 วิทยากรให้ความรู้ในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ โดยข้าพเจ้าได้จัดเตรียมเอกสารให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อนำความรู้สู่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ในเรื่องระเบียบแถวและการสวนสนาม ซึ่งถือเป็นวิชาที่สำคัญ เป็นขบวนการฝึกการมีระเบียบวินัยในตนเอง ฝึกความตรงต่อเวลา และความรับผิดชอบให้เกิดกับเยาวชน
               2.2 ผู้อำนวยการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ บทบาทหน้าที่ในการฝึกอบรม คือ เป็นผู้วางแผนการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นก่อนการฝึกอบรม จนกระทั่งการฝึกอบรมเสร็จสิ้น โดยการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือจังหวัดศรีสะเกษ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ชุมชน สถานีตำรวจ โรงพยาบาล  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
               2.3 วิทยากรให้ความรู้ในการชุมนุมลูกเสือโลก ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดชุมนุมลูกเสือโลก (World Jamboree) ครั้งที่ 20 ปี พ.ศ. 2546 ณ หาดยาว จังหวัดชลบุรี การชุมนุมลูกเสือโลก คือ การจัดให้ลูกเสือประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไปอยู่ค่ายพักแรม ณ สถานที่ที่กำหนดให้และให้ลูกเสือที่ไปร่วมการชุมนุมได้มีโอกาสประกอบกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ โดยข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการเป็นวิทยากรในจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ
               2.4 คณะกรรมการดำเนินงานประกวดระเบียบแถวและสวนสนามลูกเสือของสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือจังหวัดศรีสะเกษ ข้าพเจ้าได้ร่วมการดำเนินงานในวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาลูกเสือจัดขึ้น ณ สนามกีฬากลางจังหวัดศรีสะเกษ
               2.5 ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมาเป็นเวลา 16 ปี  ข้าพเจ้าได้พัฒนาขบวนการลูกเสือในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งครูเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขั้นความรู้เบื้องต้น ( B.T.C. : Basic Unit Leader Training Course) หลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C.  : Advance Unit Leader Training Course) และหลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ (A.L.T.C. :  Assistance Leader Trainers Course) เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาคุณภาพของนักเรียน และได้สนับสนุนส่งลูกเสือ เนตรนารี เข้าร่วมประกวดระเบียบแถวและสวนสนามอย่างต่อเนื่องทำให้ได้รับรางวัลเสมอมา
           3. ในการบริหารงานกิจการลูกเสือ เนตรนารีในสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าปฏิบัติราชการ ได้วิเคราะห์บริบทของสถานศึกษา คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาในการดำเนินกิจกรรมลูกเสือ และประเมินผลการดำเนินงานทุกกิจกรรม นอกจากนี้ได้นำผลจากการประเมินมาปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานกิจการลูกเสือ เพื่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ครูผู้สอนลูกเสือ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
           จากการพัฒนากิจการลูกเสือในโรงเรียนของจังหวัดศรีสะเกษ ทำให้ข้าพเจ้า และสถานศึกษา ได้รับรางวัล ดังนี้
            1) ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น ประจำปี  2547  ประเภทผู้บริหาร 
จากสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ
            2) ได้รับเหรียญลูกเสือสดุดีพระราชทานชั้นที่ 3 ประจำปี 2547 เข้ารับรางวัลในปี พ.ศ. 2548
             3) ได้รับเหรียญลูกเสือสดุดีพระราชทานชั้นที่ 2 ประจำปี 2548 เข้ารับรางวัลในปี พ.ศ. 2549
             4) ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น ประจำปี 2553 ประเภทผู้บริหาร 
จากสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ
            5) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1
โดยรับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร
            6) โรงเรียนนำขบวนการลูกเสือมาใช้ในการพัฒนาครูและนักเรียน โดยมีการจัดกิจกรรมและวิจัย
 เรื่อง “การพัฒนาวินัยนักเรียนโดยใช้ขบวนการลูกเสือ โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม อำเภอไพรบึง จังหวัด
ศรีสะเกษ”
            7) กองลูกเสือโรงเรียนโนนปูนวิทยาคม ได้รับโล่โล่รางวัลชมเชย และโล่รางวัลชมเชยอันดับ 3 
ในการประกวดสวนสนาม เนื่องในวันสถาปนาลูกเสือไทย ณ สนามกีฬากลางจังหวัดศรีสะเกษ
            8) กองลูกเสือโรงเรียนโนนปูนวิทยาคม เป็นกองลูกเสือดีเด่นระดับจังหวัด ในโครงการคัดเลือก
กองลูกเสือดีเด่นและผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น
            9) กองลูกเสือโรงเรียนโนนปูนวิทยาคม ชนะเลิศการประกวดสวนสนามลูกเสือ เยาวชนต้านยาเสพติดในสถานศึกษา ระดับจังหวัดประเภทสามัญรุ่นใหญ่ ณ สนามกีฬากลางจังหวัดศรีสะเกษ ประจำปี พ.ศ. 2547
           10) กองลูกเสือโรงเรียนโนนปูนวิทยาคม ชนะเลิศการประกวดระเบียบแถวสวนสนามลูกเสือ
เนตรนารี ระดับมัธยมศึกษาในงานวิชาการปริทัศน์ 72 พรรษามหาราชินี จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศรีสะเกษ เขต 3 ประจำปี พ.ศ. 2547
           11) กองลูกเสือโรงเรียนโนนปูนวิทยาคม รางวัลการประกวดระเบียบแถว ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ระดับเหรียญทอง ในงานมหกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 ปี พ.ศ. 2549        
           12) โรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนต้นแบบการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ผลที่เกิดจากการนำผลงานดีเด่นที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ไปใช้
           จากความสำเร็จที่ได้รับรางวัลผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น และได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ในครั้งนี้ข้าพเจ้านำผลงานไปใช้ดังนี้
           1) เป็นต้นแบบของผู้บริหารในการพัฒนากิจการลูกเสือไทยในโรงเรียน และเป็นวิทยากรพัฒนาอบรมครูหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือ
           2) สนับสนุน ส่งเสริมครูให้ได้รับการพัฒนาตนเองในการเข้ารับการฝึกอบรมในขั้นความรู้ที่สูงขึ้น 
และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
             3) สนับสนุน ส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนมีคุณลักษณะ
ที่พึงประสงค์ ตรงต่อเวลา มีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบและความสามัคคีในหมู่คณะ
           4) โรงเรียนที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปในการพัฒนากิจการลูกเสือ และเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
          
แนวคิดในการพัฒนาต่อไป
            จากที่ข้าพเจ้าได้รับรางวัลผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น และได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี  ชั้นที่ 1 ข้าพเจ้ามีความมุ่งมั่นพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริม การจัดกิจกรรมลูกเสือในโรงเรียน พัฒนาคณะครูบุคลากรผู้สอนลูกเสือ และนักเรียนให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้ามีแนวคิดในการพัฒนากิจการลูกเสือ ดังนี้
1)    สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของกิจกรรมลูกเสือต่อครูผู้สอน และนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
และลงมือปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับคณะครู  กิจกรรมหน้าเสาธง และการอบรมนักเรียนในโอกาสต่าง ๆ
            2) จัดทำวารสารประชาสัมพันธ์ส่งให้หน่วยงาน องค์กร ชุมชน ได้รับทราบความเคลื่อนไหว
การดำเนินงานของโรงเรียน การดำเนินงานกิจการลูกเสือจังหวัด
           3) นำกระบวนการลูกเสือมาใช้ในการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน และทักษะ
ชีวิต รวมถึงการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน
            5) จัดทำวิจัยพัฒนารูปแบบที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะชน
             6) พัฒนาการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนและพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง

             7) ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้โดยแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น